วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ว่านพระยากระบือ

แกะรอยว่าน
ตอนที่ 2  ว่านพระยากระบือ
ว่านพระยากระบือ
          ว่านพระยากระบือ  จัดเป็นว่านในตำรา  พบในตำราของ หลวงประพัฒสรรพากร, ชัยมงคล  อุดมทรัพย์,      พยอม  วิไลรัตน์, อุตะมะ  สิริจิตโต, นายเลื่อน  กัณหะกาญจนะ, อาจารย์ญาณโชติ  ตามลำดับ
หลวงประพัฒสรรพากร (2475, หน้า 25)
          ว่านพระยากระบือ  หัวเหมือนหัวกลอย  ต้นเหมือนมะตูม  ใบซอยๆ  ต้นและดอกหอมเหมือนแก่นจันทน์  วันอังคารและวันเสาร์ร้องดังเหมือนกระบือ (แต่ไม่ปรากฎใช้อะไร)
พยอม  วิไลรัตน์ (2504, หน้า  74)  ได้ระบุประโยชน์ของ  ว่านพระยากระบือ  ไว้ดังนี้
          มีคุณในการทำให้ผู้ได้ว่านนี้มาปลูกไว้  และรักษาเป็นอย่างดี  เกิดสมบูรณ์พูนสุขสวัสดิมงคลแก่ตัวและครอบครัว  ย่อมนำโชคลาภมาสู่ตลอดเวลา
          ว่านพระยากระบือ  ที่เล่นกันในปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด  คือ

ชนิดแรกนี้  เป็นว่านพระยากบือ  สายของป้าบุญช่วย  ใจยุติธรรม  เป็นผู้ค้นคว้า
ชนิดที่สอง  เป็นว่านพระยากระบือ  สายของ อ.หล่อ  ขันแก้ว เป็นผู้ค้นคว้า

ชนิดที่สาม  เป็นว่านพระยากระบือ  สายของ อ.มา  เครื่องทองดี  เป็นผู้ค้นคว้า
(ผู้เขียนพบว่า  ชนิดที่สามนี้  มีชื่อท้องถิ่นว่า  มันเขาวัว)
          เมื่อเทียบกับตำราแล้ว  ผู้เขียนคิดว่า  ว่านพระยากระบือชนิดแรก  สายป้าบุญช่วย  ใจยุติธรรม  มีลักษณะค่อนข้างตรงตามตำรามากกว่าชนิดอื่นในขณะนี้  ด้วยเหตุผล  คือ  หัวเหมือนกลอย  และใบเป็นซอยๆ 
แต่ยังไม่ถือเป็นข้อยุติของว่านชนิดนี้   จนกว่าจะมีการค้นพบว่านพระกระบือที่มีลักษณะใกล้เคียงตามตำรามากกว่านี้

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

แกะรอยว่าน
ตอนที่ 1 กล่าวนำ
         
ว่าน  เป็นพืชที่สังคมไทยคุ้นเคยกันดี  และพบได้ในสังคมทุกระดับชั้น  ถ้าถามว่า “คุณรู้จักว่านอะไรบ้าง  ส่วนใหญ่มักจะตอบได้  มากบ้างน้อยบ้าง  ต่างๆ กันไป  แต่ถ้าตั้งคำถามว่า “ว่าน คืออะไร  คนที่สนใจเรื่องว่าน  มักตอบกันได้ยิ่งตั้งคำถามว่า “ว่านต้นนี้  ตรงตามตำราไหม  หรือ “ว่านต้นนี้  ของแท้ไหม  ข้อนี้คงต้องเป็นผู้ที่คลุกคลีวงการว่านมาพอสมควร  ที่เรียกกันว่า “เซียนว่าน  ถึงจะตอบได้  อีกคำถามคือ  ว่านต้นนี้ไม่มีชื่อในตำรา  จัดเป็นว่านด้วยหรือไม่” คำตอบข้อนี้  ต้องเป็นผู้ที่เจนจัด ”ว่านในตำรา  และได้เห็นได้ศึกษา “ว่านนอกตำรา” มาพอสมควรเลยทีเดียวถึงจะให้ความกระจ่างได้
          จากคำถามข้างต้นที่ผู้เขียนได้กล่าวมานั้น  ผู้อ่านเองอาจจะตั้งคำถามว่า  แล้วสาระของว่าน  คือ อะไร” ข้อเขียนนี้เป็นการประมวลความรู้ในการศึกษาเรื่องว่านของผู้เขียนเอง  เพื่อตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้  ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความคิดเห็นของท่านผู้อ่านบางท่านก็เป็นได้   ข้อคิดเห็น และทัศนะต่างๆ ที่เสนอแนะไป  ล้วนเป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง  ที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องว่านที่ผู้เขียนได้ศึกษามา เพื่อให้ข้อเขียนนี้เป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องว่านให้แก่ผู้ที่สนใจ  และนำไปต่อยอดความรู้ออกไป  อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการว่านต่อไปในอนาคต
          เนื้อหาในตอนแรกนี้  จะกล่าวถึง  ความหมายของว่าน    ว่า ว่านคืออะไร      และขอบเขตที่ใช้ในการศึกษา
 ว่านในตำรา  และ “ว่านนอกตำรา
          ส่วนตอนต่อๆ ไป  ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์  พร้อมทั้งแสดงว่าคิดเห็น ต่อว่านแต่ละต้น แต่ละชื่อ ซึ่งจะเน้นข้อมูลทางด้านกายภาพของต้นว่านเป็นหลักในการวิเคราะห์  ส่วนเรื่องความเชื่อ  และสรรพคุณของว่าน จะขอกล่าวพอสังเขป  เพราะอาจทำให้ข้อเขียนแต่ละตอนมีความยาวมากเกินไป    



ความหมายของว่าน
          การศึกษาว่านในชั้นต้น  ก็ต้องทราบความหมายของสิ่งที่จะศึกษาก่อน “ว่าน คือ อะไร  เป็นคำถามของหัวข้อนี้ มีผู้ให้ความหมายแก่ว่านไว้หลายท่าน  อาทิ
หลวงประพัฒสรรพากร (2475, หน้า 1)       
          “ต้นไม้จำพวกว่านนี้ แต่โบราณกาลบางฉะบับกล่าวว่าเป็นต้นไม้ที่ฤาษีประสิทธิ์และรู้จักใช้ แต่(แก่)พวกชาวป่าชาวดอยใช้ยา(สนุนไพรและไสยศาตร์) คนจำพวกนี้ใช้แต่ว่านและรากไม้เป็นพื้น  ชนจำพวกที่นับถือว่านได้แก่ คนชาวเหรี่ยง(ปกาเกอะยอ)  ข่า  เขมร  ลาว อันเป็นชาวป่าและชาวดอย  ซึ่งในปัจจุบัน(พ.ศ 2475)ก็ยังคงใช้อยู่  ว่านนี้เป็นของจับเค้าได้ยาก  เพราะต้นและหัวคล้ายๆ กัน  ในต้นเดียวกันบ้านหนึ่งใช้ไปอย่างหนึ่ง  และเรียกชื่อก็ต่างๆ กัน”
พยอม  วิไลรัตน์ (2504, หน้า 1 -2)
          “ว่านเป็นชื่อของพืชจำพวกหนึ่ง  ซึ่งมีคุณสมบัติชนิดที่ทำให้บุคคลปลูกไว้กับบ้าน  ติดอยู่กับตัว  เข้าไปใกล้เคียง  หรือถูก ต้อง ทา  หรือรับประทานเข้าไป  เกิดความรู้สึกภายในมึนชา  เมา  กล้าหาญ  ฮึกเหิม  หดหู่  รักหลง  เกลียดชัง  ภายนอกทำให้เกิดศิริมงคล  เกิดลาภสักการะ  อิทธิพล  อำนาจ  เมตตามหานิยม  จังงัง  คงทน  ต่อไฟ  สัตราวุธ  แคล้วคลาด  จากภัยอันตรายต่างๆ  เกิดมีกำลัง  ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์  หูทิพย์  ตาทิพย์  ล่องหน  หายตัว  ตลอดถึงเป็นยารักษาโรคต่างๆ  และเป็นยาอายุวัฒนะนาๆ ชนิด”
เลื่อน  กัญหะกาญจนะ (2506, หน้า ข – ค)
          “คำว่า ว่าน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า พืชที่มีหัวบ้าง ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง  แค่นี้เอง  แต่ตามที่เป็นจริงนั้น  ว่านยังสามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อไว้ดูเล่นในฐานะเป็นของแปลก  เป็นของหายาก  และใช้เป็นของป้องกันภัยอันตรายจากไฟไหม้  จากอุปัทวเหตุ  ทั้งที่เป็นของสำหรับเสี่ยงทายเพื่อรู้ถึงวาสนาชะตาของเจ้าของว่านชนิดนั้นว่า  มีโชคดีหรือร้ายอีกด้วย”
          จากความหมายที่ยกมาข้างต้น  พอจะสรุปได้ว่า  ว่าน  คือ  พืชชนิดใดก็ได้  ที่มนุษย์มีความเชื่อในต้นว่าน และนำว่านมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านไสยศาสตร์  ด้านสมุนไพร  ด้านไม้เสี่ยงทาย  เป็นต้น

ว่านในตำรา และ ว่านนอกตำรา
          ว่านในตำรา  ตามนิยามในข้อเขียนนี้  คือ  ว่านที่มีรายชื่ออยู่ในตำราที่ผู้เขียนใช้ในการศึกษาและอ้างอิง  มีจำนวน 11 เล่ม  ดังต่อไปนี้
ตำหรับ  กระบิลว่าน                              ของ  หลวงประพัฒสรรพากร                 พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2475
คู่มือนักเล่นว่าน                                ของ  ล.  มหาจันทร์                            พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2480
ตำราสรรพคุณยาไทย                          ของ  นายไพฑูรย์  ศรีเพ็ญ                     พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2484
ตำราดูว่านและพระเครื่อง พระบรมธาตุ        ของ ชัยมงคล  อุดมทรัพย์                      พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2503
ตำรากบิลว่าน                                  ของ  พยอม   วิไลรัตน์                         พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2504
ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน                   ของ  สิริจิตโต (อุตะมะ  สิริจิตโต)              พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2505
ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์                     ของ  อาจารย์ชั้น  หาวิธี                         พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2506
ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน         ของ  นายเลื่อน  กัญหกาญจนะ                พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2506
ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์                     ของ  ร.ต. สวิง   กวีสุทธิ์                       พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2508
กบิลว่าน 108                                  ของ  สมาน  คัมภีร์ และทัศนา  ทัศนมิตร      พิมพ์เมื่อปี พ.ศ 2516
คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์                  ของ  อาจารย์ญาณโชติ                         ไม่ทราบปีที่พิมพ์
          ว่านนอกตำรา ตามนิยามในข้อเขียนนี้  คือ  ว่านที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในตำราที่ผู้เขียนใช้ในการศึกษาและอ้างอิง  มีจำนวน 11 เล่มข้างต้น  แต่เป็นว่านที่มีการใช้มาจริงสืบต่อกันมาตามท้องถิ่นต่างๆ ของไทย  และประเทศข้างเคียง  เช่น  ว่านในสายสำนักเขาอ้อ  จังหวัดพัทลุง   ว่านในสายทางประเทศลาว  เป็นต้น
          โดยผู้เขียนจะนำเสนอทั้ง ว่านในตำรา และ ว่านนอกตำรา  สลับผลัดเปลี่ยนกันไป  อาจจะมีการแทรก บทความเกี่ยวกับว่าน เพิ่มเติมเป็นครั้งคราวอีกด้วย  เพื่อผู้อ่านจะได้ความรู้ที่หลากหลายในหลายๆ ด้าน
นพคุณ  คุมา